วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553


การแต่งกลอนสุภาพ
ข้อบังคับของกลอนสุภาพ
ตัวอย่าง แสดงกลอน 2 บท
กลอนสุภาพพึงมีจำกำหนด กลอนหนึ่งบทสี่วรรคกรองอักษร
วรรคละแปดพยางค์นับศัพท์สุนทร อาจยิ่งหย่อนเจ็ดหรือเก้าเข้าหลักการ
ห้าแห่งคำคล้องจองต้องสัมผัส สลับจัดรับรองส่งประสงค์สมาน
เสียงสูงต่ำต้องเรียงเยี่ยงโบราณ เป็นกลอนกาน์ครบครันฉันนี้เอย

แผนผัง คณะ ประกอบด้วย
1.1 กลอน 4 วรรค นับเป็น 1 บท บทหนึ่งมี 4 บาท บาทละ 2 วรรค รวมเป็น 4 วรรค ดังกล่าวแล้ว(1บาทอาจเรียกว่า 1 คำกลอนก็ได้ ) วรรคที่ 1 มีชื่อเรียกว่า วรรคสลับ วรรคที่ 2 มีชื่อเรียกว่า วรรครับ วรรคที่ 3 มีชื่อเรียกว่า วรรครอง วรรคที่ 4มีชื่อเรียกว่า วรรคส่ง
1.2 วรรคหนึ่งๆมี 8 พยางค์(อาจใช้ 7 หรือ 9 พยางค์ก็ได้ ) พยางค์สุดท้ายของวรรคที่หนึ่งให้สัมผัสกับพยางค์ที่ 3 หรือ 5 ของวรรคที่2 (บางครั้งอาจอนุโลมให้สัมผัสกับพยางค์ที่ 2,4 หรือ 6ก็ได้ )
1.3 พยางค์สุดท้ายของวรรคที่ 2 ให้สัมผัสกับพยางค์สุดท้ายของวรรคที่ 3
1.4พยางค์สุดท้ายของวรรคที่ 3 ให้สัมผัสกับพยางค์ที่ 3 หรือ 5 ของวรรคที่ 4 (บางครั้งอาจอนุโลมให้สัมผัสกับพยางค์ที่ 2,4 หรือ 6ก็ได้ )
1.5พยางค์สุดท้ายของวรรคที่ 4 ให้สัมผัสกับพยางค์สุดท้ายของวรรคที่ 2 ในบทต่อไป 1.6 เสียงวรรณยุกต์ ที่นิยมใช้ในการแต่งกลอน มีดังนี้คือพยางค์สุดท้ายของวรรคที่ 2ต้องใช้เสียงจัตวา หรือเสียงเอก หรือเสียงโท และพยางค์สุดท้ายของวรรคที่ 4 นิยมใช้วรรณยุกต์สามัญ หรือเสียงตรีและพยางค์นี้ไม่นิยมใช้เสียงวรรณยุกต์ที่ซ้ำกับพยางค์สุดท้ายของวรรคที่ 2 หรือพยางค์สุดท้ายของวรรคที่ 3
สัมผัส มีหลายอย่างได้แก่
1. สัมผัสสระ หมายถึงคำที่อยู่ในสระเดียวกันและอยู่ในมาตราเดียวกัน
2. สัมผัสอักษร แท้จริงคือ สัมผัสเสียงพยัญชนะ การที่ใช้ว่าสัมผัสอักษร แทนที่จะใช้ให้ตรงความหมายว่าสัมผัสเสียงพยัญชนะก็เพราะโดยมากในภาษาไทย ตัวอักษรเดียวกันมักออกเสียงเดียวกัน เมื่อเข้าใจข้อยกเว้นแล้ว จะเรียกสัมผัสอักษรต่อไปก็ได้ เพื่อความสะดวก
3.สัมผัสนอก หมายถึง สัมผัสบังคับ สัมผัสบังคับหรือสัมผัสนอกเป็นสัมผัสสระไม่ บังคับสัมผัสอักษรเลย
4. สัมผัสใน หมายถึง สัมผัสไม่บังคับผู้แต่งเติมเข้ามาเองตามความพอใจ สัมผัสในมีทั้งที่เป็นสัมผัสสระและสัมผัสอักษร สัมผัสชนิดหลังนี้ผู้แต่งนิยมกันมาก
แหล่งอ้างอิง : หนังสือเรียนการแต่งคำประพันธ์
โดย : นาย กิตติสาร อาริยวัฒน, โรงเรียนพนัสพิทยาคาร, วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2546

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น